ตะลึงพรึงเพริดปรากฏการ ปลากอง (ปลาปีกแดง)วางไข่วันพระ

(เครดิตภาพจาก ดร.ทวน อุปจักร เจ้าของบ่อเกลือวิว รีสอร์ต)
http://www.thairath.co.th/content/585632
มาแล้ว มาแล้ว ‘ปลาปีกแดง’ มัจฉามหัศจรรย์แห่งลำน้ำมาง อ.บ่อเกลือ จ.น่าน กับปรากฏการณ์ปลากอง มาออกันนับหมื่นตัวเพื่อวางไข่ในวันพระเดือนมีนาคม ปีนี้ผ่านไปแล้ว 1 วันพระ ปลายังกองไม่มาก รอลุ้นอีกครั้งในวันพระหน้า...

หนึ่งในอันซีนของ จ.น่าน ‘มหัศจรรย์แห่งลำน้ำมาง’ บ้านสบมาง หมู่ 4 ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน และแม่น้ำอีกหลายสายในอำเภอบ่อเกลือ ทุกปีในช่วงเดือนมีนาคม จะมี "ปลาปีกแดง" มาออรวมกันเพื่อวางไข่ พบเห็นได้เพียงครั้งเดียวในรอบปี

สำหรับปีนี้ ดร.ทวน อุปจักร อายุ 39 ปี เจ้าของบ่อเกลือวิว รีสอร์ต อ.บ่อเกลือ จ.น่าน นักธุรกิจด้านท่องเที่ยวและนักอนุรักษ์ เผยว่า ทุกปีจะมีปลาปีกแดงนับหมื่นตัวว่ายทวนกระแสน้ำ เพื่อขึ้นมาผสมพันธุ์ และวางไข่ในที่ตื้นและมีโขดหิน โดยชาวบ้านจะเรียกว่า ปลากอง จะเกิดในวันพระเพียงแค่ 2 วันเท่านั้นในเดือนมีนาคมทุกปี หลังจากที่ขึ้นมาผสมพันธุ์และวางไข่แล้ว ปลาทั้งหมดก็จะกลับไปอยู่ที่เดิม และลำน้ำจะกลับไปเงียบสงบเหมือนเดิม เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ภาพ www.dailynews.co.th

ปรากฏการณ์ปลากอง (ปลาปีกแดง)วางไข่วันพระ พบได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น
ปลาปากหนวด หรือ ปลาปีกแดง ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hypsibarbus vernayi ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) มีรูปร่างและขนาดใกล้เคียงปลาตะพากเหลือง (H. wetmorei) แต่ต่างกันตรงที่ครีบก้นไม่ยาวถึงโคนหางเหมือนปลาตะพากเหลือง ครีบและหางเป็นสีแดงเข้มหรือสีส้ม และถิ่นที่อยู่พบในภาคอีสาน, ภาคเหนือ และภาคกลางแถบ จังหวัดเพชรบุรี, ราชบุรี พบน้อยกว่าปลาตะพากเหลือง คือพบเป็นบางฤดูกาลเท่านั้น

ความเป็นมาของปลาปากหนวด เริ่มจาก อาเธอร์ เอส. เวอร์เนย์ นักมีนวิทยาชาวอังกฤษได้เก็บตัวอย่างปลาปากหนวดได้ 2 ตัว จากอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก จึงได้ส่งตัวอย่างให้ จอห์น ร็อกโบโรห์ นอร์แมน เพื่อตรวจสอบว่าเป็นปลาชนิดใหม่หรือไม่ ปรากฏว่าเป็นปลาชนิดใหม่ นอร์แมนจึงตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้แก่เวอร์เนย์

ปลาปากหนวดมีลำตัวที่แบนข้าง หัวค่อนข้างเล็ก มีหนวดยาว 2 คู่ มีเกล็ดตามลำตัวประมาณ 26-28 แถว เกล็ดรอบคอดหาง 12 แถว ครีบหลังมีก้านครีบเดี่ยวก้านสุดท้ายเป็นซี่แข็งและขอบจักเป็นฟันเลื่อย ตัวมีสีขาวเงินเจือเหลือง ขอบเกล็ดบนหลังแต่ละเกล็ดมีลายสีดำติดต่อกันเป็นร่างแห

ปลาปากหนวด หรือ ปลาปีกแดง ในช่วงวันขึ้น 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ ในเดือนมีนาคม ของทุกปี ในแม่น้ำมาง ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำน่าน ในตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน จะมีปรากฏการณ์ที่ปลาปากหนวดนับหมื่นหรือแสนตัวว่ายทวนน้ำขึ้นไปผสมพันธุ์และวางไข่ตามลำน้ำและโขดหิน ซึ่งปลาจะมากองรวมกัน ชาวบ้านเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "ปลากอง" ซึ่งจะเกิดขึ้นเพียง 2 วันนี้เท่านั้น และก่อนที่จะเกิดปรากฏการณ์นี้ จะมีสิ่งบอกเหตุ คือ ท้องฟ้ามืดครึ้ม อากาศเย็นกว่าปกติ และนกเค้าแมวส่งเสียงร้อง เมื่อผสมพันธุ์และวางไข่เสร็จแล้ว จะกลับไปอาศัยอยู่ยังที่เดิม หรือบางตัวก็ตายลงตามอายุขัย
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ อาณาจักร:Animalia ไฟลัม: Chordata  ชั้น:Actinopterygii อันดับ:Cypriniformes วงศ์:Cyprinidae สกุล:Hypsibarbus สปีชีส์:H. vernayi ชื่อทวินามHypsibarbus vernayi

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

จัดดอกไม้แบบทรงพุ่มเล็กและใหญ่เหมาะสมกับงานพิธีต่างๆ

รวบรวมภาพและเรื่องราวชาวเลเกาะลันตาบ้านโต๊ะบาหลิวกระบี่

วัดน้อยนพคุณ : บนพื้นที่อันร่มรื่นของพื้นที่ดุสิต ถนนพระราม๕