โกหกแบบไหนถึงจะไม่ผิด
หลายคนอาจเคยคิดว่า ถ้าพูดความจริงแล้วจะทำให้เกิดความเสียหาย แต่ถ้าพูดโกหกแล้วจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แบบนี้จะผิดหรือไม่ และการพูดความจริงแต่พูดไม่หมดนั้นบาปหรือไม่ โกหกแบบไหนถึงจะไม่ผิด
โดย พระมหา ดร.สมชาย ฐานวุฑโฒ
เรียบเรียงจากรายการข้อคิดรอบตัว ทาง DMC
การโกหก
การโกหกเป็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นบาปและควรละเว้น แต่หลายคนอาจเคยมีความคิดว่า ถ้าพูดความจริงแล้วจะทำให้เกิดความเสียหาย แต่ถ้าพูดโกหกแล้วจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แบบนี้จะผิดหรือไม่ และการพูดความจริงแต่พูดไม่หมดนั้นบาปหรือไม่ โกหกแบบไหนถึงจะไม่ผิด
คำว่า โกหก มีคำจำกัดความว่าอย่างไร?
โดยหลักก็คือว่า เป็นเรื่องไม่จริง ทั้งที่เรารู้ว่าเป็นเรื่องไม่จริง และเราก็มีเจตนาที่จะโกหก แล้วพูดไปคนฟังก็ฟังเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง นั่นคือโกหกโดยสมบูรณ์ ถ้าเป็นเรื่องไม่จริงแต่เราไม่รู้นึกว่ามันเป็นเรื่องจริงคือเราเข้าใจผิดอย่างนี้ก็ยังพอรอดตัว
ที่บรรจุไว้เป็น 1 ใน 5 ของศีล 5 ที่เราต้องถือปฏิบัติในเบื้องต้นนั้น เราดูได้ 2 ระดับ คือเรื่องโกหก บางทีมันเป็นเรื่องที่ไม่หนักในระดับการฆ่าสัตว์ เพราะการทำลายชีวิตผู้อื่นดูมันหนักและใหญ่กว่า หรือไปขโมยของคนอื่นเขานี่ก็เรื่องใหญ่ แค่โกหกพูดไปหน่อยเดียวเพราะมันออกไปง่าย และมันก็ไม่เห็นจะมีผลกระทบอะไรมากมายไม่ถึงกับทำให้ใครตาย ทำไมมันต้องหนักหน่วงขนาดนั้นหรือ เราลองสังเกตดูว่าในสังคมนั้นจะอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก ศีลข้อ 4 มีความจำเป็นมากเลย ถ้าหากว่าเราอยู่กับคนรอบข้างแล้วเขาพูดอะไรมา แสดงอะไรมาเราไม่อาจมั่นใจได้เลยว่าเขาพูดจริงหรือไม่ ชีวิตก็จะมีแต่ความหวาดระแวงมีแต่ความเสี่ยงมาก อย่างถ้าในบางประเทศมีโอกาสในการทำธุรกิจดูดีมากแต่ว่าไม่มีความแน่นอน คือไปลงทุนแล้วพร้อมจะถูกยึดตลอด คือคำสัญญาของรัฐบาลและทุกอย่างไม่มีอะไรที่แน่นอน สามารถพลิกผันได้ทุกเมื่อ ทุกคนก็ไม่อยากเอาเพราะมีความเสี่ยงมาก เพราะมีความไม่แน่นอน
การพูดโกหก ทำให้เกิดบาปในใจ
จะเห็นว่ากิจกรรมระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ก็ตาม ระหว่างองค์กรกับองค์กรก็ตาม ระหว่าประเทศกับประเทศก็ตาม จะดำเนินไปได้ด้วยดีต่อเมื่อมีพื้นฐานคือ ความไว้วางใจ ความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ได้พูดออกมา ได้สัญญาออกมาแล้วนั้นจะปฏิบัติตามนั้น ถ้าเมื่อใดก็ตามไม่มีการรักษาสัญญา ก็ไม่รู้จะไปทางไหนเลย นี่คือระดับหนึ่ง สังคมจะอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกได้จำเป็นต้องมีศีลข้อ 4 เป็นพื้นฐาน เป็นศีลหลัก 1 ใน 5 ข้อของมนุษย์เลย นี่คือระดับที่เราเห็นได้ในภพปัจจุบันนี้เลย
การพูดโกหก ทำให้เกิดบาปในใจ สิ่งที่เราพูดออกไปมันจะเกิดเป็นภาพในใจ ถ้าเราพูดเรื่องที่ไม่จริงภาพที่เกิดขึ้นในใจมันจะเป็นภาพบิดเบี้ยว เพราะมันเพี้ยนจากความเป็นจริง เรารู้อยู่ว่าความจริงเป็นยังไง ถ้าเราพูดอีกแบบ ภาพที่ซ้อนอยู่มันเกิดการสับสน หนักเข้าก็จะเป็น อัลไซเมอร์ ขี้หลงขี้ลืม เพราะมันสับสนว่าอันไหนจริงอันไหนโกหก คนที่พูดโกหกมากๆ เข้าสุดท้ายตัวเองก็สับสน เพราะต้องมานั่งจำว่าวันไหนพูดยังไง วันนี้พูดยังไง หนักเข้ามันจำไม่ไหว สุดท้ายก็ทำให้ตัวเองสับสน หนักๆ เข้าก็เป็น อัลไซเมอร์ ไปเลย พอเป็นอย่างนี้ก็ทำให้ใจหมอง เมื่อจิตเศร้าหมองไม่ผ่องใส ทุคติเป็นที่ไป ก็ไปอบาย เพราะคุณภาพใจมันเสีย